เอ็นอักเสบ (Tendinitis) คือ การบวมเจ็บของเอ็นกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นแถบเนื้อเยื่อพังผืดที่ยืดหยุ่นได้ตามแนวกระดูก คอยเชื่อมต่อระหว่างกล้ามเนื้อและกระดูกไว้ด้วยกัน ช่วยในการเคลื่อนไหวของกระดูกและข้อต่อ  สาเหตุที่เอ็นอักเสบมักเกิดจากการได้รับบาดเจ็บที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งซ้ำ ๆ เช่น ข้อมือ ข้อเท้า เข่า หัวไหล่ ข้อศอก สะโพก จนทำให้มีอาการปวดหรือเจ็บรอบ ๆ ข้อต่อ

เอ็นอักเสบ

อาการของเอ็นอักเสบ

เอ็นกล้ามเนื้อในบริเวณใด ๆ ของร่างกายล้วนแต่เกิดการอักเสบขึ้นได้ทั้งนั้น แต่บริเวณที่เป็นบ่อยคือ หัวไหล่ ข้อศอก ข้อมือ ข้อเข่า และข้อเท้า ซึ่งจะส่งผลให้บริเวณดังกล่าวมีอาการ ดังนี้

  • รู้สึกปวดตื้อ ๆ บ่อยครั้ง โดยเฉพาะเมื่อมีการเคลื่อนไหวที่ใช้แขนขาหรือข้อต่อนั้น ๆ
  • ใช้การเคลื่อนไหวเอ็นกล้ามเนื้อได้ลำบาก
  • มีอาการฟกช้ำ
  • มีอาการบวม บางครั้งอาจรู้สึกอุ่น ๆ หรือมีอาการแดงร่วมด้วย
  • มีก้อนบวมนูนตามเอ็นกล้ามเนื้อนั้น ๆ

อาการของเอ็นอักเสบส่วนใหญ่มักดีขึ้นเองภายใน 2-3 วัน ด้วยการพักและดูแลรักษาตนเอง แต่หากพบว่ายังคงมีอาการรุนแรง ต่อเนื่อง กระทบต่อการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันเป็นเวลานานกว่า 2-3 วัน หรือคิดว่าเอ็นกล้ามเนื้ออาจฉีกขาด ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา

สาเหตุของเอ็นอักเสบ

เอ็นอักเสบอาจเกิดขึ้นเมื่อได้รับบาดเจ็บอย่างฉับพลัน หรือเกิดจากการเคลื่อนไหวเอ็นกล้ามเนื้อบริเวณหนึ่ง ๆ ซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน โดยมากมักเกิดจากสาเหตุข้อหลัง โดยเฉพาะการทำอาชีพหรืองานอดิเรกที่ต้องมีการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อเอ็นซ้ำ ๆ ซึ่งทำให้เอ็นบริเวณที่ถูกใช้งานตึงขึ้นเรื่อย ๆ หรือกิจกรรมกีฬาที่ต้องใช้การเคลื่อนไหวบริเวณเดิมบ่อย ๆ เช่น เทนนิส กอล์ฟ ว่ายน้ำ จึงควรมีเทคนิคที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการใช้งานกล้ามเนื้อเอ็นมากจนเกินไป

ผู้ที่อยู่ในภาวะต่อไปนี้อาจเสี่ยงต่อการเกิดเอ็นกล้ามเนื้ออักเสบได้มากกว่าปกติ

  • ผู้ที่มีอายุมากจะยิ่งมีโอกาสเกิดภาวะเอ็นอักเสบมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากเอ็นกล้ามเริ่มมีความยืดหยุ่นน้อยลง
  • ผู้ประกอบอาชีพที่ต้องใช้การเคลื่อนไหวบางส่วนของร่างกายบ่อยครั้ง มีการเคลื่อนไหวผิดท่า เอื้อมยกของ ต้องออกแรงแกว่งหรือแรงเหวี่ยง หรืองานที่ต้องลงแรงมาก
  • การเล่นกีฬาบางชนิดที่เอ็นกล้ามเนื้อต้องทำงานซ้ำ ๆ เช่น บาสเก็ตบอล กอล์ฟ โบว์ลิ่ง ว่ายน้ำ เทนนิส และวิ่ง

การวินิจฉัยเอ็นอักเสบ

โดยมากแพทย์จะวินิจฉัยภาวะเอ็นอักเสบด้วยการตรวจร่างกายเพียงเท่านั้น แต่บางครั้งก็อาจส่งตรวจเอกซเรย์หรือหากต้องการแน่ใจว่าอาการดังกล่าวไม่ได้มีสาเหตุมาจากโรคอื่นมักใช้การตรวจด้วยการถ่ายภาพ

การรักษาเอ็นอักเสบ

การรักษาภาวะเอ็นอักเสบในเบื้องต้นทำได้ด้วยการหยุดพักกิจกรรมที่ต้องใช้การเคลื่อนไหวของเอ็นบริเวณที่อักเสบจนกว่าจะหายดี รวมถึงการดูแลรักษาด้วยตนเองซึ่งทำได้ดังนี้

  • ประคบเย็นด้วยผ้าห่อน้ำแข็งบริเวณที่อักเสบนาน 20 นาที ทำซ้ำทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง
  • ใช้ผ้าพันแผลพันรอบ ๆ เพื่อรองรับข้อต่อและเอ็นกล้ามเนื้อบริเวณนั้น ๆ
  • พยายามยกส่วนของร่างกายที่มีอาการให้อยู่ในระดับสูง โดยใช้หมอนหนุนไว้เมื่อนั่งหรือนอนลง
  • ป้องกันการบวมของบริเวณที่อักเสบในช่วง 2-3 วันแรกด้วยการหลีกเลี่ยงความร้อน เช่น น้ำอุ่น หรือถุงน้ำร้อน รวมทั้งการดื่มแอลกอฮอล์และการนวดบริเวณดังกล่าว
  • เมื่อเริ่มเคลื่อนไหวเอ็นกล้ามเนื้อได้โดยไม่รู้สึกเจ็บ ให้พยายามออกการเคลื่อนไหวบ่อย ๆ ป้องกันการฝืดติดของเอ็นที่เกิดขึ้นจากการไม่ได้เคลื่อนไหว
  • อาจรับประทานยาหรือทาเจลบรรเทาการอักเสบที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป

ทั้งนี้ หากอาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน หรือยังคงมีอาการรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยควรรับการตรวจรักษาโดยแพทย์ ซึ่งวิธีการรักษาที่อาจนำมาใช้ มีดังต่อไปนี้

การรักษาด้วยยา ยาที่แพทย์แนะนำสำหรับผู้มีอาการเอ็นอักเสบ ได้แก่

  • ยาบรรเทาอาการปวด เช่น แอสไพริน (Aspirin) นาพรอกเซน (Naproxen) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) อาจช่วยลดอาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากการอักเสบของเอ็นกล้ามเนื้อได้
  • คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ในบางครั้งแพทย์อาจรักษาด้วยการฉีดสเตียรอยด์ชนิดนี้รอบ ๆ บริเวณเอ็นที่มีการอักเสบ เพื่อลดการอักเสบและบรรเทาอาการเจ็บไปด้วย ทั้งนี้ไม่แนะนำให้ใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์ในกรณีที่มีการอักเสบเรื้อรังหรือการอักเสบที่นานกว่า 3 เดือน เนื่องจากการฉีดยาชนิดนี้ซ้ำ ๆ อาจส่งผลให้เอ็นกล้ามเนื้ออ่อนแอลงและเพิ่มความเสี่ยงต่อการฉีกขาดของเอ็นกล้ามเนื้อ

การทำกายภาพบำบัด เป็นวิธีบำบัดรักษาโดยใช้การออกกำลังกาย เพื่อช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและความแข็งแรงของเอ็นกล้ามเนื้อที่อักเสบ รวมถึงกล้ามเนื้อบริเวณรอบ ๆ เช่น การเพิ่มความต้านทานของกล้ามเนื้อที่เน้นการเกร็งตัวในขณะที่มีการยืดตัว ซึ่งพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาการอักเสบเรื้อรังของเอ็นกล้ามเนื้อ

การผ่าตัด กรณีที่ภาวะเอ็นอักเสบมีอาการรุนแรงและนำไปสู่การฉีกขาดของเอ็น อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เอ็นกล้ามเนื้อฉีกขาดออกจากกระดูก

ภาวะแทรกซ้อนของเอ็นอักเสบ

ภาวะเอ็นอักเสบที่ไม่ได้รับการรักษาจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการฉีกขาดของเอ็นกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นภาวะที่รุนแรงกว่าและอาจถึงขั้นต้องได้รับการผ่าตัด หรือหากอาการอักเสบของเอ็นกล้ามเนื้อคงอยู่เป็นเวลาหลายอาทิตย์หรือหลายเดือนก็อาจนำไปสู่ภาวะเอ็นอักเสบเรื้อรัง โดยจะส่งผลให้เกิดความเสื่อมสภาพภายในเอ็นกล้ามเนื้อดังกล่าว เกิดข้อติด และเกิดการเติบโตของหลอดเลือดที่ผิดปกติขึ้น

การป้องกันภาวะเอ็นอักเสบ

ภาวะเอ็นอักเสบมีวิธีป้องกันโดยปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่จะส่งผลให้เกิดแรงตึงต่อเอ็นกล้ามเนื้อมากเกินไป โดยเฉพาะเมื่อทำซ้ำเป็นเวลานาน และหากรู้สึกถึงอาการเจ็บที่เกิดขึ้นระหว่างการออกกำลังกายชนิดใดชนิดหนึ่งแล้วก็ควรหยุดพักการทำกิจกรรมนั้นสักพัก
  • ทำกิจกรรมออกกำลังกายให้หลากหลาย หากว่าการออกกำลังกายที่ทำอยู่มักทำให้รู้สึกปวดบริเวณเอ็นกล้ามเนื้ออยู่บ่อยครั้ง ควรสับเปลี่ยนด้วยการออกกำลังกายชนิดอื่น เช่น การผสมผสานทั้งการออกกำลังกายที่ลงน้ำหนักอย่างการวิ่ง ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายที่ไม่ต้องลงน้ำหนัก เช่น การปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ เป็นต้น
  • ปรับเทคนิคการทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายให้ถูกต้อง นับเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาเกี่ยวกับเอ็นกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวผิดท่า ควรศึกษาหรือขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญสำหรับการออกกำลังกายในระยะเริ่มต้น หรือเมื่อต้องการลองใช้อุปกรณ์ออกกำลังกายชนิดใหม่ ๆ
  • หากเพิ่งเริ่มออกกำลังกาย ควรทำอย่างค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป ไม่ควรหักโหมตั้งแต่คราวแรก
  • อบอุ่นร่างกายให้พร้อมก่อนการทำกิจกรรมหรือเล่นกีฬาต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ให้ทนต่อความตึงและการลงน้ำหนักได้ดี
  • หมั่นยืดกล้ามเนื้อหลังการออกกำลังกาย เพื่อเพิ่มความสามารถในการเคลื่อนไหวของเอ็นกล้ามเนื้อ ช่วยป้องกันอาการบาดเจ็บจากการตึงของเนื้อเยื่อ ทั้งนี้การยืดกล้ามเนื้อที่ให้ผลดีที่สุดก็คือหลังจากออกกำลังกายเสร็จแล้ว เพราะเป็นเวลาที่กล้ามเนื้อได้รับการอุ่นเครื่องแล้ว
  • จัดรูปแบบอุปกรณ์การทำงานให้เหมาะสม ผู้ที่ต้องทำงานกับคอมพิวเตอร์ควรปรับเก้าอี้ คีย์บอร์ด และหน้าจอให้เหมาะสมกับส่วนสูง ความยาวของแขน และลักษณะงานที่ทำ เพื่อป้องกันอาการตึงที่ข้อต่อและกล้ามเนื้อเอ็นต่าง ๆ  

 

ขอบคุณเนื้อหาจาก https://www.pobpad.com