โรคหลอดเลือดในสมอง

ความผิดปกติของหลอดเลือดสมองที่ทำให้สมองขาดเลือด แบ่งได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

  • หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (ischemic stroke) เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง พบได้ประมาณ 80% หลอดเลือดสมองอุดตันเกิดได้จากลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นในบริเวณอื่นไหลไปตามกระแสเลือดจนไปอุดตันที่หลอดเลือดสมอง หรืออาจเกิดจากมีลิ่มเลือดก่อตัวในหลอดเลือดสมอง และขยายขนาดใหญ่ขึ้นจนอุดตันหลอดเลือดสมอง ส่วนสาเหตุของหลอดเลือดสมองตีบอาจเกิดจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบแคบ มีความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพในการลำเลียงเลือดลดลง
  • หลอดเลือดสมองแตก(hemorrhagic stroke) พบได้ประมาณ 20% ของโรคหลอดเลือดสมอง เกิดจากหลอดเลือดมีความเปราะบางร่วมกับภาวะความดันโลหิตสูง ทำให้บริเวณที่เปราะบางนั้นโป่งพองและแตกออก หรืออาจเกิดจากหลอดเลือดเสียความยืดหยุ่นจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดปริแตกได้ง่าย ซึ่งอันตรายมากเนื่องจากทำให้ปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมองลดลงอย่างฉับพลันและทำให้เกิดเลือดออกในสมอง ส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็วได้

อาการของโรคหลอดเลือดสมอง

  • มีอาการชาหรืออ่อนแรงของแขนขา หรือใบหน้าข้างใดข้างหนึ่ง
  • ตาข้างใดข้างหนึ่งมัว มองไม่เห็น มองเห็นภาพซ้อน หรือมีลานสายตาผิดปกติเฉียบพลัน
  • พูดไม่ชัด พูดลำบาก หรือไม่เข้าใจคำพูด
  • มีอาการปวดศรีษะอย่างรุนแรงโดยไม่มีสาเหตุชัดเจน
  • มีอาการเวียนศรีษะเฉียบพลัน หรือมีการทรงตัวผิดปกติ

การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง

  • การให้ยาสลายลิ่มเลือด (tissue plasminogen activator. rt-Pa) ทางหลอดเลือดดำแก่ผู้ป่วยภายในเวลา 4.5 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ จะเพิ่มโอกาสของการฟื้นตัวจากความพิการให้อาการกลับมาปกติหรือใกล้เคียงปกติได้ถึง 30-50% เมื่อเทียบกับผู้ป่วยกลุ่มที่ไม่ได้รับยา
  • การให้รับประทานยาแอสไพรินภายใน 48 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ สามารถช่วยลดโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบตันซ้ำและเสียชีวิตลงได้
  • การใส่สายสวนเพื่อเปิดหลอดเลือด (mechanical thombectomy) ในรายที่มีข้อบ่งชี้
  • การรับตัวผู้ป่วยไว้ในหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน (acute stroke unit) เพื่อติดตามอาการทางสมองที่อาจเปลี่ยนแปลงได้อย่างใกล้ชิดและสามารถให้การดูแลรักษาได้อย่างทันท่วงที
  • การผ่าตัดเปิดกะโหลก (Hemicraniectomy) จะพิจารณาทำเฉพาะกรณีที่สมองบวมจากการขาดเลือดบริเวณกว้าง

การป้องกันโรค

  • การใช้ยาต้านเกร็ดเลือด หรือยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด
  • ควบคุมปัจจัยเสี่ยง เช่น การรักษาโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และการงดสูบบุหรี่
  • การลดอาหารที่มีไขมันโดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว ลดอาหารเค็ม และรับประทานผักผลไม้ให้มาก
  • งดการดื่มแอลกอฮอล์
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • ออกกำลังกาย